เรื่องสงครามคราวนี้ พระราชพงศาวดารไทยกับพงศาวดารพม่ายุติต้องกันแต่ว่าไทยกับพม่าได้รบกัน แต่ส่วนพลความแตกต่างกันไปหมด ในพงศาวดารพม่าว่าไทยยกไปตีเมืองทวายแลัเมืองเมาะตะมะ เสียทีพม่าต้องเลิกทัพกลับมา ในหนังสือพระราชพงศาวดารว่า ไทยยกกองทัพขึ้นไปถึงราชธานีของพม่า ได้ล้อมเมืองอังวะไว้ แต่ขัดเสบียงอาหารจึงต้องเลิกทัพกลับมา
พิเคราะห์ความตามหลักฐานที่มีอยู่ว่าความจริงจะเป็นอย่างข้างไหนก็ตัดสินยาก หลักฐานที่น่าจะสมจริงอย่างข้างพม่าว่ามีอยู่ที่แผนที่ ด้วยเมืองอังวะอยู่ไกลขึ้นไปข้างเหนือมาก ถ้าไทยจะยกกองทัพขึ้นไปจะต้องได้หัวเมืองมอญไว้เป็นกำลังทั้งหมด แล้วยังจะต้องตีเมืองแปร เมืองตองอู และหัวเมืองใหญ่น้อยต่อขึ้นไปอีกหลายเมือง ถึงจะถึงเมืองอังวะ
ครั้งสมเด็จพระนเรศวรได้หัวเมืองมอญไว้เป็นกำลังโดยมากแล้ว ก็ตีเพียงเมืองหงสาวดี ครั้นจะเสด็จไปตีเมืองอังวะ ยังเห็นว่าเดินกองทัพไปทางเมืองเชียงใหม่สะดวกกว่า ครั้งแผ่นดินสมเด็จพระนารายณ์เป็นแต่มอญเมืองเมาะตะมะเป็นกบฎต่อพม่า แล้วพากันหนีมาพึ่งไทยหัวเมืองมอญอื่นยังเป็นของพม่า หาได้มาขึ้นกับไทยอย่างแผ่นดินสมเด็จพระนเรศวรไม่
พิเคราะห์ความตามหลักฐานที่กล่าวมานี้ ดูใช่วิสัยที่ไทยจะยกกองทัพขึ้นไปถึงเมืองอังวะได้ในครั้งนั้น แต่รายการสงครามครั้งนี้ที่กล่าวในหนังสือพระราชพงศาวดารก็ถ้วนถี่นักหนา จะว่าไม่มีมูลว่าไม่ได้ ซ้ำในพงศาวดารรามัญก็มีเรื่องราวยุติต้องตรงกันกับหนังสือพระราชพงศาวดารหมด ผิดกันแต่ว่าตีเมืองภุกามอันอยู่ใต้เมืองอังวะลงมา หาได้ขึ้นไปถึงเมืองอังวะไม่ ข้าพเจ้าจึงอนุมัติตามรายการที่กล่าวในหนังสือพระราชพงศาวดาร และยอมเชื่อตามพงศาวดารรามัญว่าไทยได้ขึ้นไปตีเพียงเมืองภุกาม
เหตุที่ไทยไปตีพม่าคราวนี้ เพราะพม่าบังอาจยกกองทัพตามครัวมอญเข้ามาตีเมืองไทยก่อน จึงไปตีเมืองพม่าตอบแทนบ้าง แต่เมื่อพิเคราะห์ดูเห็นว่าถึงไม่มีเหตุที่พม่ามาบุกรุกก่อน บางทีไทยก็อาจจะไปตีเมืองพม่าเหมือนกัน ด้วยครั้งนั้นมีโอกาสเกิดขึ้นหลายสถาน เป็นต้นแต่ไทยได้รบชนะพม่าที่เมืองเชียงใหม่และที่เมืองไทรโยค ประมาณฝีมือพม่าได้แล้วประการ ๑ ไทยมีแม่ทัพนายกองที่สามารถในการสงครามขึ้นมาใหม่หลายคน คือ เจ้าพระยาโกษาฯ ขุนเหล็ก พระยาสีหราชเดโชชัยเป็นต้น
ทั้งไพร่พลก็กำลังร่าเริงในการศึกนั้นประการ ๑ ไทยได้มอญเข้ามาสามิภักดิ์เป็นอันมาก พวกมอญคงสื่อสารไปมาถึงกัน รับรองว่าถ้ากองทัพไทยยกกองไปตีเมืองพม่าเมื่อใดมอญที่ยังอยู่ทางโน้น จะพากันมาเข้ากับไทย เหมือนเมื่อครั้งสมเด็จพระนเรศวรประการ ๑ ในเมืองพม่าบ้านเมืองก็ไม่ปรกติ ด้วยถูกฮ่อลงมาย่ำยีหัวเมืองข้างฝ่ายเหนือยับเยินอยู่ทั้งนั้น ในเมืองอังวะเองก็เกิดกบฏปลงพระชนม์พระเจ้าแผ่นดิน ผู้คนข้างฝ่ายพม่ายังกำลังรวนเรระส่ำระสายด้วยอีกประการ ๑ ด้วยเหตุทั้งปวงนี้ สมเด็จพระนารายณ์จึงให้กองทัพออกไปตีเมืองพม่า
กองทัพไทยยกไปตีเมืองพม่าครั้งนี้ ในหนังสือพระราชพงศาวดารหาปรากฏว่ายกไปปีใดไม่ ในพงศาวดารรามัญว่าปีขาล พ.ศ. ๒๒๐๕ ก็ไปพ้องกับปีตีเมืองเชียงใหม่ ข้าพเจ้าจึงลงศักราชว่าไทยไปตีเมืองพม่าในแผ่นดินสมเด็จพระนารายณ์ เมื่อปีมะโรง พ.ศ. ๒๒๐๗ โดยเห็นยุติตามเหตุการณ์ เพราะรบกับพม่าที่เมืองเชียงใหม่เมื่อปีขาล รบพม่าที่เมืองไทรโยคเมื่อปีเถาะ รบคราวนี้จึงต้องเป็นปีมะโรง
กองทัพไทยที่ยกไปตีเมืองพม่าครั้งแผ่นดินสมเด็จพระนารายณ์
ปรากฏในหนังสือพระราชพงศาวดารว่า จำนวนพลประมาณ ๖๐,๐๐๐ ยกไปเป็น ๓ ทาง คือ พระยารามเดโชคุมกองทัพเมืองเชียงใหม่ไปทางเมืองผาปูนทาง ๑ พระยากำแพงเพชรคุมกองทัพหัวเมืองเหนือยกไป ทางด่านแม่ละเมาทาง ๑ เจ้าพระยาโกษาฯ ขุนเหล็ก ถืออาญาสิทธิ์เป็นแม่ทัพใหญ่ พระยาสีหราชเดโชชัยเป็นแม่ทัพหน้า พระยาวิชิตภักดีเป็นยกกระบัตรทัพ พระยาสุรินทรภักดีเป็นเกียกกาย พระยาสุรสงครามเป็นกองหลัง ยกไปทางด่านพระเจดีย์สามองค์ทาง ๑ และเกณฑ์กองมอญเก่า ให้พระยาเกียรติ และ สมิงพระรามยกไปติดเมืองทวาย กันมิให้ทวายตีโอบหลังกองทัพเจ้าพระยาโกษาฯ อีกทาง ๑ กองทัพทั้งปวงยกไปประชุมกันที่เมืองเมาะตะมะ
ครั้นกองทัพพร้อมกันแล้วเจ้าพระยาโกษาฯ จึงยกออกจากเมืองเมาะตะมะ ตีเมืองรายทางเป็นลำดับไป กองทัพไทยยกไปคราวนี้ พวกมอญพากันมาเข้ากับไทยเสียเป็นอันมาก มอญที่พม่าคุมไว้ได้ก็ไม่เต็มใจต่อสู้ไทย เพราะฉะนั้นกองทัพไทยจึงตีหัวเมืองรายทางได้โดยง่าย เมื่อได้เมืองจิตตอง เมืองสิเรียม เมืองร่างกุ้งแล้ว เจ้าพระยาโกษาฯ ให้รวบรวมเรือในพื้นเมืองจัดกองทัพเรือขึ้นอีกทัพ ๑ ยกกองทัพบกเรือพร้อมกันขึ้นไปตีเมืองหงสาวดีและเมืองแปรเป็นอันดับไป
ฝ่ายพระเจ้าอังวะทราบว่าไทยตีได้หัวเมืองมอญ ด้วยพลมอญไม่เป็นใจต่อสู้ กองทัพไทยได้หัวเมืองรายทางขึ้นไปหลายเมือง จึงให้กองทัพพม่าลงมาตั้งรักษาเมืองภุกามคอยต่อสู้ไทยอยู่ที่นั่น ให้มังจาเลราชบุตรซึ่งได้เป็นเจ้าเมืองจาเล ถืออาญาสิทธิ์เป็นแม่ทัพ ครั้นกองทัพไทยยกขึ้นไปถึง มังจาเลให้กองทัพพม่ายกมาตีได้รบกันกลางแปลงหลายครั้ง พม่าสู้ไทยไม่ได้ต้องถอยหนีไปทุกที ด้วยพระยาสีหราชเดโชชัยนายทัพหน้านั้นเข้มแข็งในการศึกนัก มังจาเลเห็นว่าไพร่พลล้มตาย ด้วยไทยยังมีกำลังมากนักจึงเป็นแต่ให้รักษาค่าย ซึ่งตั้งรายรอบเมืองมั่นไว้ มิได้ยกออกรบกลางแปลงดังแต่ก่อน กองทัพไทยขึ้นไปถึงพร้อมกันก็ให้ล้อม เมืองภุกามไว้
ฝ่ายพระยาสีหราชเดโชชัยเห็นว่า พม่าไม่ออกรบกลางแปลงก็คุมพลเข้าปล้นค่ายพม่า ฆ่าฟันล้มตายและจับเป็นมาได้เนืองๆ มังจาเลจึงให้ทำอุบายซุ่มทหารไว้ทางข้างหลังค่าย ครั้นพระยาสีหราชเดโชชัยยกไปปล้นค่ายอีก พวกพม่าที่รักษาค่ายต่อสู้บ้างเล็กน้อยแล้วแกล้งทำทิ้งค่ายหนี พระยาสีหราชเดโชชัยไม่รู้เท่าว่าเป็นกลอุบายคุมพลไล่ถลำล่วงเข้าไปในค่าย พม่าล้อมจับได้เกือบหมดทั้งกอง แต่พระยาสีหราชเดโชชัยนั้นพม่าจับเอาไปแล้วหนีกลับมาได้
เจ้าพระยาโกษาฯ ตั้งล้อมเมืองภุกามอยู่จนเข้าปีมะเส็ง พ.ศ. ๑๑๐๘ ตีเมืองไม่ได้ เสบียงอาหารก็อัตคัดเข้าทุกที เห็นจะถึงฤดูฝนคิดจะเลิกทัพกลับมา เกรงพม่าจะยกกองทัพติดตามจึงคิดอุบายมีหนังสือเข้าไปยังมังจาเล ว่ากองทัพไทยได้มาตั้งล้อมเมืองภุกามอยู่ก็นานแล้วพม่าก็หาออกมารบไม่ เดี๋ยวนี้เสบียงอาหารก็อัตคัด ไพร่พลอดอยากด้วยกันทั้งไทยและพม่า เจ้าพระยาโกษาฯ จะใคร่เลิกทัพกลับไปก็เกรงพระราชอาญาด้วยว่าหาได้รบพุ่งให้เต็มฝีมือก่อนไม่ ขอให้แม่ทัพพม่าจัดกองทัพออกมารบให้ปรากฏฝีมือเสียสักหน่อย จะได้เลิกสงครามกัน
ฝ่ายพม่าเข้าใจว่าเจ้าพระยาโกษาฯ จะทำกลอุบายในกระบวนยุทธก็นิ่งเสียหาออกมารบไม่ เจ้าพระยาโกษาฯ เห็นพม่าครั่นคร้ามสมคะเนจึงให้ผ่อนครัวและ คนเจ็บป่วยส่งลงมาก่อน แล้วคืนวันหนึ่งให้ถอยกองทัพออกไปตั้งซุ่มอยู่ข้างหลังเมือง
ครั้นถึงเวลาเที่ยงคืน ให้ทหารที่เหลืออยู่ในค่ายยิงปืนไฟอย่างปืนสัญญา แล้วเผาเชื้อเพลิงซึ่งกองรายไว้หลังค่ายให้แสงสว่างขึ้น พวกพม่าข้างในเมืองภุกามสำคัญว่าไทยถอยทัพ ก็ยกกรูกันออกมาเข้าค่ายไทยประสงค์จะตามจับผู้คน และเก็บทรัพย์สิ่งของที่อยู่ข้างหลัง
ขณะนั้นกองทัพไทยที่ซุ่มอยู่ก็ออกระดมตีพวกพม่าฆ่าฟันล้มตายเสียเป็นอันมาก ที่เหลืออยู่ก็พากันหนีกลับเข้าเมืองกองทัพไทยไล่ติดตามไป จนถึงกำแพงเมืองแล้วก็กลับมาอยู่ในค่ายอย่างเดิม รุ่งขึ้นเจ้าพระยาโกษาฯ จึงมีหนังสือเข้าไปเยาะพม่าว่าไม่รู้กลอุบายของการสงคราม พากันออกมาล้มตายเสียเป็นอันมาก แต่ก็ได้รบพุ่งสมความปรารถนาของไทยแล้ว จะขอลาเลิกทัพกลับไปขอให้พม่าอยู่ให้เป็นสุขเถิด ครั้นมีหนังสือเข้าไปแล้ว พอเพลาค่ำในวันรุ่งขึ้นเจ้าพระยาโกษาฯ ก็เลิกทัพกลับมา ฝ่ายพม่าข้างในเมืองเข้าใจว่าเจ้าพระยาโกษาฯ คงทำอุบายอย่างไรอีกก็ไม่ยก ออกติดตามปล่อยให้กองทัพถอยกลับมาได้โดยสะดวก
หมายเหตุ : โปรดใช้วิจารณญาณในการอ่าน
ความคิดเห็น
แสดงความคิดเห็น