หลังทรงทราบข่าวความพ่ายแพ้ของหมิงรุ่ย จักรพรรดิทรงตกพระทัยและกริ้วยิ่งนัก จึงทรงมีรับสั่งเรียกตัวองคมนตรีฟู่เหิง ซึ่งเป็นลุงของหมิงรุ่ย ผู้เคยมีประสบการณ์ในการรบกับมองโกล พร้อมด้วยแม่ทัพแมนจูอีกหลายนาย เช่น เสนาบดีกรมกลาโหม อากุ้ย แม่ทัพอาหลีกุ่น รวมทั้งเอ้อหนิง สมุหเทศาภิบาลมณฑลยูนนานและกุ้ยโจว ให้เตรียมการยกทัพเข้าโจมตีพม่าเป็นครั้งที่สี่ โดยอาศัยกำลังทั้งจากทัพแปดกองธงและกองธงเขียว
ปี ค.ศ.1769 หลังเตรียมการพร้อมสรรพ ฟู่เหิงก็นำทัพมุ่งสู่แดนพม่า โดยแบ่งเป็นทัพบกและทัพเรือ โดยทัพบกเคลื่อนมาทางฝั่งตะวันตกของแม่น้ำอิระวดี ส่วนทัพเรือล่องมาตามแม่น้ำ โดยมีกำลังพลทั้งสิ้นหกหมื่นคน ประกอบด้วยทหารแปดธงสี่หมื่นและทัพธงเขียวกับทหารไทใหญ่อีกสองหมื่น
ฝ่ายพม่านั้น พระเจ้ามังระโปรดให้ อะแซหวุ่นกี้เป็นแม่ทัพใหญ่ มีพลามินดินเป็นผู้ช่วย โดยยุทธศาสตร์หลักคือ ต้องยันทัพชิงไว้ที่ชายแดน ไม่ให้บุกลึกเข้ามาในพม่าได้อีก นอกจากนี้ ฝ่ายพม่ายังเตรียมกองทัพเรือเพื่อสู้ศึกกับทัพเรือต้าชิงและเสริมกำลังด้วยกองทหารปืนใหญ่ชาวฝรั่งเศส ที่นำ ปีแอร์ เดอ มิลลาร์ด อีกด้วย โดยเมื่อจัดทัพพร้อมแล้ว อะแซหวุ่นกี้ก็เคลื่อนพลทางเรือล่องตามลำน้ำอิระวดีสู่เมืองพะมอ ซึ่งเป็นชัยภูมิที่จะใช้ตั้งรับกองทัพต้าชิง
ข้างฝ่ายทัพบกของฟู่เหิงก็เริ่มพบความยากลำบากในการเคลื่อนทัพ เนื่องจากเข้าฤดูฝน ทำให้เส้นทางส่วนใหญ่ซึ่งเป็นป่าเขา เต็มไปด้วยโคลนเลน การขนย้ายสัมภาระทำได้ลำบาก ซ้ำยังเกิดโรคระบาดต่าง ๆ โดยเฉพาะมาเลเรียตามมา อีกทั้งเจอการต้านทานอย่างหนักจากกองทหารพม่า ฟู่เหิงจึงเปลี่ยนเส้นทางเดินทัพ โดยข้ามแม่น้ำมาทางตะวันออกแทน ส่วนทัพเรือต้าชิงก็ต้องสู้รบกับกองทหารพม่าตามจุดต่าง ๆ ในแถบลุ่มอิระวดีมาอย่างต่อเนื่องขณะที่เคลื่อนทัพมา
วันที่ 10 ตุลาคม ทัพจีนและพม่าเปิดศึกกันที่ซินเจีย ทางฝั่งตะวันออกของแม่น้ำอิระวดี โดยทัพเรือได้ปะทะกันก่อน กองเรือพม่าได้ถอยลงไปทางใต้ ยึดสันดอนทรายเป็นที่มั่นและหันกลับมาสู้กับทัพเรือต้าชิงอย่างดุเดือด สามารถสังหารทหารชิงได้สองพันกว่านาย จมเรือรบได้หกลำ ขณะเดียวกัน ทางบก ฝ่ายต้าชิงก็ส่งทัพม้าเข้าปะทะกับทัพพม่าอย่างดุเดือด สังหารข้าศึกไปพันห้าร้อยกว่าคน หลังการรบ ทัพพม่าได้ถอยลงใต้ ทำให้ทัพชิงเข้ายึดซินเจียได้
กองทัพต้าชิงยังรุกต่อทั้งทางบกและทางน้ำ แต่ก็ถูกทัพพม่าต้านทานอย่างเหนียวแน่น และเมื่อน้ำในแม่น้ำอิระวดีเริ่มแห้งขอด ทัพเรือชิงก็ติดสันดอนทราย จนไม่อาจเคลื่อนที่ได้ ขณะกองทัพบกก็ถูกกองทัพพม่าปิดล้อม ทัพชิงได้ทุ่มกำลังเพื่อตีฝ่าวงล้อม แต่ก็ถูกทัพพม่าวางกลซุ่มโจมตีจนต้องล่าถอย
การรบยืดเยื้อถึงเดือนพฤศจิกายน ค.ศ. 1769 ทหารพม่าก็ได้ส่งทูตมาเจรจาขอพักรบชั่วคราว ทางฝ่ายต้าชิงก็เหนื่อยล้าเต็มทีเช่นกัน จึงตัดสินใจยอมรับการเจรจา เพราะต่างเห็นแล้วว่า การทำศึกยืดเยื้อต่อไปไม่เป็นผลดี
ถึงตอนนั้น ทัพต้าชิงได้รับความเสียหายหนัก ตลอดการสู้รบที่ผ่านมา ทหารกว่าสามหมื่นนายเสียชีวิตเพราะการรบและการเจ็บป่วย แม้แต่ตัวฟู่เหิงกับอาหลีกุ่นผู้เป็นแม่ทัพใหญ่และรองแม่ทัพใหญ่ก็ยังล้มป่วยด้วยไข้มาเลเรีย
สงครามสิ้นสุดลงด้วยการเจรจา และบรรลุสนธิสัญญากวนตงในเดือนกรกฎาคม ค.ศ.1770 จากนั้นทัพชิงก็เคลื่อนกลับปักกิ่ง ส่วนฟู่เหิงกับอาหลีกุ่น ซึ่งกำลังป่วยหนักอยู่นั้น ไม่นานก็ถึงแก่อสัญกรรมทั้งคู่ และแม้ว่า ทั้งจักรพรรดิเฉียนหลงและพระเจ้ามังระจะไม่พอพระทัยกับการสงบศึกที่แม่ทัพสองฝ่ายกระทำไว้ แต่สองฝ่ายก็ไม่ได้ทำสงครามกันอีก จากนั้นอีกเกือบยี่สิบปีต่อมา จีนและพม่าจึงได้ฟื้นฟูความสัมพันธ์ทางการทูตอีกครั้ง โดยพม่ายอมส่งบรรณาการให้ต้าชิง ทำให้จักรพรรดิเฉียนหลงทรงอ้าง
ชัยชนะในสงครามครั้งนี้ ทว่า ชัยชนะนี้ ก็แลกมาด้วยชีวิตของแม่ทัพนายกองพร้อมกับไพร่พลอีกกว่าเจ็ดหมื่นคนที่ต้องมาทิ้งไว้ในสมรภูมิแห่งอิระวดี นับว่าเป็นสงครามชายแดนที่มีความสูญเสียมากที่สุดของราชวงศ์ชิง
สงครามครั้งนี้ได้ทำให้อะแซหวุ่นกี้ แม่ทัพฝ่ายพม่า ได้มีชื่อเสียงขึ้นมา ก่อนจะมีบทบาทต่อมาอีกในทางการเมืองและสงครามภายหลังอีกหลายครั้ง
ที่มา : http://www.komkid.com
ความคิดเห็น
แสดงความคิดเห็น